การเงินและการธนาคาร
1. ระบบการเงินและการธนาคาร
ระบบการเงินของออสเตรเลียมีเสถียรภาพและสภาพคล่องสูง โดยมีธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) เป็นองค์กรอิสระ รับผิดชอบด้านนโยบายการเงิน เสถียรภาพของระบบการเงิน และการกำหนดระเบียบการใช้จ่าย และมีหน่วยงานวางระเบียบระบบการเงินอีก 3 หน่วยงาน คือ
- Australian Prudential Regulation Authority (APRA)
- Australian Securities and Investment Commission (ASIC)
- กระทรวงการคลัง (Australian Treasury)
และมีสภา (Council of Financial Regulators) ที่ประกอบด้วยผู้แทนของทั้ง 4 หน่วยงาน กำกับดูแลและประสานงานด้านนโยบายและการปฏิบัติ
ตลาดการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ตราสารทุน และอนุพันธ์
ออสเตรเลียมีตลาดการเงินที่พัฒนาแล้ว โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ได้แก่ เงิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และตราสารอนุพันธ์ ถึงแม้ตลาดเหล่านี้จะมีขนาดไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับตลาดในเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่มูลค่าธุรกรรมในตลาดการเงินของออสเตรเลียสูงกว่าขนาดของเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย คือ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นสกุลเงินที่ซื้อขายมากที่สุดเป็นลำดับที่ 7 ของโลก
ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (Australian Securities Exchange) เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 16 ของโลก และออสเตรเลียมีตลาดอนุพันธ์ดอกเบี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ตลาดตราสารหนี้ของออสเตรเลียมีขนาดค่อนข้างเล็กในระดับโลก โดยตลาดโลกถูกครอบงำโดยตลาดดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณร้อยละ 50) ตลาดยูโร (ประมาณร้อยละ 30) และตลาดเยน (ประมาณ ร้อยละ 15) ส่วนแบ่งของออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งใกล้เคียงกับเดนมาร์ก สวีเดน บราซิล จีน และเกาหลีใต้
รายชื่อสถาบันทางการเงิน
ออสเตรเลียมีธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญ 4 ธนาคาร คือ
- Commonwealth Bank
- Australia and New Zealand Bank
- National Australia Bank
- Westpac Bank
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารขนาดเล็ก สถาบันการเงินในรูปแบบสหกรณ์ และธนาคารต่างประเทศมากกว่า 100 สถาบัน
2. ระบบการชำระเงิน
- วิธีการชำระเงินที่ใช้ในออสเตรเลียมีหลายทาง
ได้แก่ เงินสด เช็ค เครดิตการ์ด Electronic fund transfer at point of sale (EFTPOS) (คือ บริการหักบัญชีเงินฝาก ณ จุดขาย โดยการหักยอดเงินดังกล่าวจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรและโอนไปยังบัญชีเงินฝากของร้านค้าผู้รับบัตรทันที) และ ATM
- ช่องทางการชำระเงินในออสเตรเลียได้แก่
- ธนาคารภายในออสเตรเลีย
- SWIFT Payments Delivery System (SWIFT PDS) เป็นระบบการชำระเงินสำหรับใช้ชำระเงินที่มีมูลค่าสูง ซึ่งบริหารงานโดย Australian Payments Clearing Association โดยชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการชำระเงินทำในนามของลูกค้าผ่านธนาคารต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนในออสเตรเลีย โดยการชำระเงินระบบนี้ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อสั่งจ่ายผ่านระบบ SWIFT ไปยัง RITS (ระบบการชำระเงินของออสเตรเลีย) โดยการชำระเงินนี้เป็นลักษณะ real time
- BPAY คือรูปแบบการชำระเงินที่สามารถใช้ในการตั้งค่าการชำระเงินอัตโนมัติด้วย BPAY ซึ่งสามารถ ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางโทรศัพท์ เป็นระบบชำระเงินในออสเตรเลียที่ไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก Australian Payments Clearing Association (APCA)
- New Payments Platform (NPP) ซึ่งเปิดใช้สำหรับสาธารณะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ลูกค้าของธนาคารต่าง ๆ สามารถทำการชำระเงินแบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลา ด้วย NPP การชำระเงินแบบเรียลไทม์สามารถส่งตรงไปยัง BSB และหมายเลขบัญชี หรือไปยัง PayID ซึ่งเป็นข้อมูลสามารถจดจำได้ง่าย เช่น หมายเลข โทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล หรือ Australian Business Number (ABN)
3. การโอนเงินระหว่างประเทศ
การโอนเงินระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียสามารถทำได้หลายช่องทาง และมีความสะดวกในการดำเนินการเป็นอย่างมาก ดังนี้
- โอนเงินผ่านธนาคารของออสเตรเลียโดยเสียค่าธรรมเนียม ตามที่ทางธนาคารได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไว้ หรือหากต้องการให้เก็บค่าธรรมเนียมปลายทางสามารถแจ้งทางธนาคารให้ดำเนินการได้ สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ธนาคารของออสเตรเลีย
- โอนเงินผ่านธนาคารของประเทศไทย สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ธนาคารของไทย
- โอนเงินผ่านบริษัทบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น Western Union เป็นต้น
- กรณีจำนวนเงินไม่มาก สามารถนำบัตร ATM ของธนาคารไทยมากดเงินจากตู้ ATM ในออสเตรเลีย โดยเสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการเป็นรายครั้ง