การเงินและการธนาคาร

การเงินและการธนาคาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 เม.ย. 2566

| 31 view

การเงินและการธนาคาร

1. ระบบการเงินและการธนาคาร

ระบบการเงินของออสเตรเลียมีเสถียรภาพและสภาพคล่องสูง โดยมีธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) เป็นองค์กรอิสระ รับผิดชอบด้านนโยบายการเงิน เสถียรภาพของระบบการเงิน และการกำหนดระเบียบการใช้จ่าย และมีหน่วยงานวางระเบียบระบบการเงินอีก 3 หน่วยงาน คือ

  1. Australian Prudential Regulation Authority (APRA)
  2. Australian Securities and Investment Commission (ASIC)
  3. กระทรวงการคลัง (Australian Treasury)

และมีสภา (Council of Financial Regulators) ที่ประกอบด้วยผู้แทนของทั้ง 4 หน่วยงาน กำกับดูแลและประสานงานด้านนโยบายและการปฏิบัติ

ตลาดการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ตราสารทุน และอนุพันธ์

ออสเตรเลียมีตลาดการเงินที่พัฒนาแล้ว โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ได้แก่ เงิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และตราสารอนุพันธ์ ถึงแม้ตลาดเหล่านี้จะมีขนาดไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับตลาดในเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่มูลค่าธุรกรรมในตลาดการเงินของออสเตรเลียสูงกว่าขนาดของเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย คือ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นสกุลเงินที่ซื้อขายมากที่สุดเป็นลำดับที่ 7 ของโลก

ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (Australian Securities Exchange) เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 16 ของโลก และออสเตรเลียมีตลาดอนุพันธ์ดอกเบี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตลาดตราสารหนี้ของออสเตรเลียมีขนาดค่อนข้างเล็กในระดับโลก โดยตลาดโลกถูกครอบงำโดยตลาดดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณร้อยละ 50) ตลาดยูโร (ประมาณร้อยละ 30) และตลาดเยน (ประมาณ ร้อยละ 15) ส่วนแบ่งของออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งใกล้เคียงกับเดนมาร์ก สวีเดน บราซิล จีน และเกาหลีใต้

รายชื่อสถาบันทางการเงิน

ออสเตรเลียมีธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญ 4 ธนาคาร คือ

  1. Commonwealth Bank
  2. Australia and New Zealand Bank
  3. National Australia Bank
  4. Westpac Bank

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารขนาดเล็ก สถาบันการเงินในรูปแบบสหกรณ์ และธนาคารต่างประเทศมากกว่า 100 สถาบัน

2. ระบบการชำระเงิน

  1. วิธีการชำระเงินที่ใช้ในออสเตรเลียมีหลายทาง
    ได้แก่ เงินสด เช็ค เครดิตการ์ด Electronic fund transfer at point of sale (EFTPOS) (คือ บริการหักบัญชีเงินฝาก ณ จุดขาย โดยการหักยอดเงินดังกล่าวจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรและโอนไปยังบัญชีเงินฝากของร้านค้าผู้รับบัตรทันที) และ ATM
  2. ช่องทางการชำระเงินในออสเตรเลียได้แก่
    • ธนาคารภายในออสเตรเลีย
    • SWIFT Payments Delivery System (SWIFT PDS) เป็นระบบการชำระเงินสำหรับใช้ชำระเงินที่มีมูลค่าสูง ซึ่งบริหารงานโดย Australian Payments Clearing Association โดยชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการชำระเงินทำในนามของลูกค้าผ่านธนาคารต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนในออสเตรเลีย โดยการชำระเงินระบบนี้ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อสั่งจ่ายผ่านระบบ SWIFT ไปยัง RITS (ระบบการชำระเงินของออสเตรเลีย) โดยการชำระเงินนี้เป็นลักษณะ real time
    • BPAY คือรูปแบบการชำระเงินที่สามารถใช้ในการตั้งค่าการชำระเงินอัตโนมัติด้วย BPAY ซึ่งสามารถ ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางโทรศัพท์ เป็นระบบชำระเงินในออสเตรเลียที่ไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก Australian Payments Clearing Association (APCA)
    • New Payments Platform (NPP) ซึ่งเปิดใช้สำหรับสาธารณะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ลูกค้าของธนาคารต่าง ๆ สามารถทำการชำระเงินแบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลา ด้วย NPP การชำระเงินแบบเรียลไทม์สามารถส่งตรงไปยัง BSB และหมายเลขบัญชี หรือไปยัง PayID ซึ่งเป็นข้อมูลสามารถจดจำได้ง่าย เช่น หมายเลข โทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล หรือ Australian Business Number (ABN)

3. การโอนเงินระหว่างประเทศ

การโอนเงินระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียสามารถทำได้หลายช่องทาง และมีความสะดวกในการดำเนินการเป็นอย่างมาก ดังนี้

  • โอนเงินผ่านธนาคารของออสเตรเลียโดยเสียค่าธรรมเนียม ตามที่ทางธนาคารได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไว้ หรือหากต้องการให้เก็บค่าธรรมเนียมปลายทางสามารถแจ้งทางธนาคารให้ดำเนินการได้ สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ธนาคารของออสเตรเลีย
  • โอนเงินผ่านธนาคารของประเทศไทย สามารถดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ธนาคารของไทย
  • โอนเงินผ่านบริษัทบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น Western Union เป็นต้น
  • กรณีจำนวนเงินไม่มาก สามารถนำบัตร ATM ของธนาคารไทยมากดเงินจากตู้ ATM ในออสเตรเลีย โดยเสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการเป็นรายครั้ง