การลงทุน

การลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 เม.ย. 2566

| 25 view

การลงทุน

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

(1) กฎหมายแรงงาน

ออสเตรเลียมีกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองแรงงานที่มีผลบังคับใช้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถือสัญชาติออสเตรเลียหรือผู้ที่มาจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในออสเตรเลียอย่างเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ควรรู้เมื่อต้องการมาทำงานที่ออสเตรเลีย

  1. ออสเตรเลียมีกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองทุกคนที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถือสัญชาติออสเตรเลียเอง หรือเป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่มีวีซ่าถาวรและวีซ่าชั่วคราว
  2. ชาวต่างชาติทุกคนที่ต้องการทำงานในออสเตรเลียจะต้องมีวีซ่าอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตให้ทำงานได้
  3. วีซ่าประเภทท่องเที่ยว (Visitor Visa) เป็นวีซ่าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ยกเว้น Work and Holiday Visa และ Working Holiday Visa
  4. วีซ่าประเภทนักเรียน (Student Visa) อนุญาตให้ทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์
  5. นายจ้างมีหน้าที่ตรวจสอบสถานะของวีซ่าและการอนุญาตทำงานของลูกจ้าง
  6. นายจ้างไม่มีสิทธิยกเลิกวีซ่าของลูกจ้าง มีเพียงกระทรวงมหาดไทย (Department of Home Affairs)  เท่านั้นที่จะสามารถออกวีซ่า ยกเลิกวีซ่าหรือปฏิเสธการออกวีซ่าได้
  7. รายละเอียดและเงื่อนไขการอนุญาตทำงานของวีซ่าประเภทต่าง ๆ สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/getting-a-visa/visa-listing

(2) กฎหมายที่ดิน  

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://www.austrade.gov.au/land-tenure/Land-tenure/about-land-tenure

(3) กฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

สิทธิบัตร คือ สิทธิที่มอบความคุ้มครองให้แก่อุปกรณ์ (device) สสาร (substance) วิธีการหรือกระบวนการใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และมีประโยชน์ เป็นสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ของตนในทางการค้าแต่เพียงผู้เดียวตลอดระยะเวลาการคุ้มครองตามสิทธิบัตร โดยมีพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2533 (Patent Act 1990) ของออสเตรเลียให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร 2 ประเภท ได้แก่

  1. สิทธิบัตรมาตรฐาน (Standard Patent)

คุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี (หรือไม่เกิน 25 ปี กรณีการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับยา) นับจากวันที่ยื่นขอรับความคุ้มครอง โดยระยะเวลาในการดำเนินการขอรับความคุ้มครองอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึงหลายปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

2. สิทธิบัตรนวัตกรรม (Innovation Patent)

เป็นสิทธิบัตรที่มีขั้นตอนการขอรับความคุ้มครองง่ายกว่าสิทธิบัตรมาตรฐาน (Standard Patent) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่สูง และระยะเวลาในการดำเนินการขอรับความคุ้มครองจะใช้เวลาไม่นาน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน แต่มีระเวลาการคุ้มครองเพียง 8 ปี การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรนวัตรกรรมเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนเท่าสิทธิบัตรมาตรฐานได้รับสิทธิบัตรนวัตกรรมค่อนข้างรวดเร็ว มีลักษณะคล้ายกับอนุสิทธิบัตรของไทย ออสเตรเลียให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรนวัตกรรมแทนการให้ความคุ้มครองแก่อนุสิทธิบัตร (Petty Patent)

ระบบการให้ความคุ้มครอง

ใช้ระบบการจดทะเบียน โดยสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2533 (Patent Act 1990) ระบบการจดทะเบียนของออสเตรเลียใช้ระบบผู้ยื่นก่อนมีสิทธิดีกว่า (First to file) กล่าวคือ กฎหมายให้ความคุ้มครองบุคคลแรกที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งมีลักษณะครบถ้วนตามเงื่อนไขที่จะได้รับการคุ้มครอง ดังนี้ ลักษณะการประดิษฐ์ที่จะขอรับความคุ้มครองทางสิทธิบัตรได้

เงื่อนไขการได้รับการความคุ้มครอง

การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรต้องมีลักษณะ ดังนี้

  1. เป็นลักษณะการผลิตอย่างหนึ่ง (Manner of manufacture) ตามความหมายของมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิผูกขาด (Section 6 of the Statue of Monopolies)
  2. เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ที่ปรากฏมาก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร ไม่ว่าใน ออสเตรเลียและในต่างประเทศแล้วพบว่ามีความใหม่ (Novelty) และเกี่ยวกับขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive step)
  3. มีประโยชน์ (Useful)
  4. ไม่ได้รับการเปิดเผยโดยผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ขอรับสิทธิบัตรก่อนวันยื่นคำ ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรก

สิ่งที่ไม่สามารถรับความคุ้มครองได้

  1. การสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับศิลปะ (Artistic Creations)
  2. แบบที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ (Mathematical Models)
  3. แผน (Plans)
  4. แบบแผน หรือกระบวนการที่เกี่ยวกับจิตใจทั้งหมด (Schemes or Other Purely Mental Processes)
  5. มนุษย์ (Human Being)
  6. กระบวนการเกี่ยวกับชีววิทยาสำหรับการให้กำเนิดมนุษย์ (The Biological Processes for Their Generation)

สิทธิของผู้ทรงสิทธิ

ผู้ทรงสิทธิในสิทธิบัตรมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้สิ่งประดิษฐ์เพื่อการแสวงหาประโยชน์ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นใช้การประดิษฐ์เพื่อแสวงหาประโยชน์ได้ตลอดระยะเวลาความคุ้มครองของสิทธิบัตร ทั้งนี้ “การแสวงหาประโยชน์” หมายถึง

  1. กรณีที่การประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ ผู้ทรงสิทธิสามารถผลิต ให้เช่า ขาย หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วยวิธีอื่นใด การเสนอที่จะผลิต ให้เช่า ขาย หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ใช้นำเข้า หรือเก็บผลิตภัณฑ์ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการกระทำดังที่กล่าวมา
  2. กรณีที่การประดิษฐ์เป็นวิธีการหรือกรรมวิธี ผู้ทรงสิทธิสามารถใช้วิธีการหรือกรรมวิธี หรือการกระทำใด ๆ

ที่กล่าวไว้ในข้อที่ (1) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลมาจากการใช้วิธีการหรือกรรมวิธีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำขอจะมีสิทธิเช่นผู้ทรงสิทธิในสิทธิบัตรเมื่อได้มีการประกาศโฆษณารายละเอียดการประดิษฐ์ที่สมบูรณ์แล้ว

ขั้นตอนการขอรับความคุ้มครอง

  1. สืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน
  2. ตัดสินใจเลือกประเภทของสิทธิบัตรที่เหมาะสม
  3. ยื่นคำขอสิทธิบัตร ซึ่งคำขอดังกล่าวจะถูกตรวจสอบและเผยแพร่ในวารสารราชการ
  4. การตรวจสอบดังกล่าวเป็นเงื่อนไขจำเป็นก่อนที่จะได้รับสิทธิบัตรมาตรฐาน และต้องได้รับการร้องขอจากผู้ยื่นขอสิทธิบัตร สำหรับสิทธิบัตรนวัตกรรมนั้น จะได้รับการตรวจสอบหากมีการร้องขอเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำหรับการขอสิทธิบัตรนวัตกรรม
  5. เมื่อคำขอสิทธิบัตรนวัตกรรมเป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ สิทธิบัตรดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและได้รับอนุมัติ จากนั้น จะมีการเผยแพร่สิทธิบัตรนวัตกรรมในวารสารทางการ และหากมีการร้องขอให้ตรวจสอบและพบว่าผ่าน สิทธิบัตรนวัตกรรมจะได้รับการรับรองและเผยแพร่อีกครั้ง การยื่นขอจดสิทธิบัตรมาตรฐานจะได้รับการยอมรับเมื่อมีการตรวจสอบและเผยแพร่แล้ว สิทธิบัตรมาตรฐานจะได้รับการอนุมติหากไม่มีการคัดค้าน
  6. จ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อรักษาสิทธิบัตร สิทธิบัตรนวัตกรรมสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 8 ปีและสิทธิบัตรมาตรฐานสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 20 ปี (ไม่เกิน 25 ปี สำหรับยา)

2. มาตรการและสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงทางการค้าเสรีไทยและออสเตรเลียเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย หากเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก และดำเนินการไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็สามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัด ควรเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพทางการแข่งขันกับบริษัทในท้องถิ่น และเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยหรือเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความชำนาญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในออสเตรเลีย นอกจากนี้ ควรเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก และเป็นกิจการขนาดเล็ก ได้แก่ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจขายปลีกสินค้าอาหาร ธุรกิจบริการซ่อมแซมรถยนต์ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจสถาบันสอนภาษาไทย ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจบริการทำอาหารไทย ธุรกิจบริการสอนนวดแผนไทย เป็นต้น

3. กฎการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปลงทุนได้แต่มีข้อจำกัดบางประการ

  • ธุรกิจที่ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นคนสัญชาติออสเตรเลีย อาทิ ธุรกิจสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ ธนาคาร บริการเผยแพร่เสียงแพร่ภาพ สายการบินภายในประเทศ และสายการบินระหว่างประเทศ
  • ธุรกิจที่ต้องมีนักจิตวิทยาที่พำนักในออสเตรเลีย เช่น บริการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และมานุษยวิทยา
  • ธุรกิจที่ต้องเข้าไปก่อนตั้งกิจการในออสเตรเลีย เช่น บริการให้เช่าทรัพย์สิน บริการประกันภัย บริการธนาคาร

4. เงื่อนไขการลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียจะกลั่นกรองข้อเสนอการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ โดยทั่วไปแล้วข้อเสนอการลงทุนในการถือครองหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป ในธุรกิจออสเตรเลียที่มีมูลค่าสูงกว่า 266 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* (หรือสูงกว่า 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* สำหรับนักลงทุนจากประเทศที่ทำข้อตกลงร่วมกัน) จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการทบทวนการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Review Board – FIRB) ก่อน กรณีการลงทุนของรัฐบาลต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติ หากลงทุนโดยตรงในกิจการหรือธุรกิจออสเตรเลีย หรือหากลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าของการลงทุน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Treasurer) สามารถขัดขวางข้อเสนอการลงทุนจากต่างประเทศที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ หรืออาจกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนเพื่อแก้ไขประเด็นที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ

เงื่อนไขสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

  1. การซื้อกิจการ

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการทบทวนการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Review Board – FIRB) ก่อนเข้าถือครองหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป ในธุรกิจ อต. ที่มีมูลค่าสูงกว่า 266 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย*

อย่างไรก็ดี ตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ออสเตรเลียทำไว้กับประเทศต่าง ๆ มูลค่าธุรกิจขั้นต่ำสำหรับนักลงทุนจากชิลี จีน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐฯ อยู่ที่ 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* แต่หากนักลงทุนจากประเทศเหล่านี้ลงทุนในธุรกิจที่มีความอ่อนไหว (ได้แก่ ธุรกิจสื่อ โทรคมนาคม ขนส่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการการป้องกันประเทศและการทหาร และการสำรวจแร่ยูเรเนียมหรือพลูโตเนียมหรือที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์) มูลค่าธุรกิจขั้นต่ำที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก FIRB จะอยู่ที่ 266 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย*

นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติจาก FIRB ก่อนลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการถือหลักทรัพย์ในบริษัทเกี่ยวกับที่ดินและหน่วยลงทุนที่มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน

2. ธุรกิจการเกษตร

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนเข้าถือครองหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือเข้าไปมีอิทธิพลหรือควบคุมหรือบริหาร ในธุรกิจการเกษตรซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 58 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* (ไม่ว่ามูลค่าธุรกิจนั้น ๆ จะเป็นเท่าไรก็ตาม)

อย่างไรก็ดี ตามข้อตกลงใน FTA มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำสำหรับนักลงทุนจากชิลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ อยู่ที่ 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย*

3 . ธุรกิจสื่อ

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติในการลงทุนตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปในธุรกิจสื่อ ไม่ว่ามูลค่าการลงทุนจะเป็นเท่าไร

4. การถือครองที่ดิน

  • ที่ดินเพื่อการเกษตร (Agricultural Land)

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติหากต้องการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าสูงกว่า 15 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (มูลค่าดังกล่าวเป็นมูลค่ารวมสำหรับนักลงทุนรายหนึ่งๆ)

อย่างไรก็ดี ตามข้อตกลงใน FTA มูลค่าที่ดินเพื่อการเกษตรขั้นต่ำสำหรับนักลงทุนจากชิลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ อยู่ที่ 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* และนักลงทุนจากไทยอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

  • ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Land)

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติหากต้องการถือครองที่ดินเปล่าเพื่อการพาณิชย์ ไม่ว่ามูลค่าที่ดินจะเท่าไรก็ตาม ทั้งนี้โดยปกติแล้วการถือครองจะได้รับอนุมติตามเงื่อนไขในการพัฒนาที่ดินนั้น ๆ

สำหรับที่ดินเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว นักลงทุนจากชิลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ จะต้องได้รับการอนุมัติหากมูลค่าที่ดินสูงกว่า 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* ส่วนนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ มูลค่าที่ดินขั้นต่ำอยู่ที่ 266 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* ยกเว้นกรณีที่ดินเหมืองและโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น สนามบิน ท่าเรือ มูลค่าที่ดินขั้นต่ำจะอยู่ที่ 58 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย*

  • เหมืองแร่

นักลงทุนต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติหากต้องการลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่หรือสิทธิในการผลิตแร่ ไม่ว่าจะมูลค่าเท่าไรก็ตาม อย่างไรก็ดี นักลงทุนจากชิลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ จะต้องขออนุมัติก็ต่อเมื่อมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,154 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย* เท่านั้น

*ข้อมูล ณ วันที่ 1 ม.ค. 2562  ซึ่งจะปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทุกวันที่ 1 ม.ค. ของทุกปี

เงื่อนไขสำหรับการลงทุนของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการต่างชาติ

รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการต่างชาติจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะเข้าลงทุนโดยตรงในธุรกิจออสเตรเลีย (โดยทั่วไป คือ เข้าถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 หรือเข้าไปมีอิทธิพลในธุรกิจ หรือสามารถเข้าไปควบคุมธุรกิจ) จัดตั้งธุรกิจใหม่ หรือมีผลประโยชน์ในที่ดินของออสเตรเลีย ไม่ว่ามูลค่าการลงทุนจะเป็นเท่าไร นอกจากนี้ รัฐบาลต่างชาติจะต้องได้รับอนุมัติก่อนที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ หรือถือครองหุ้นในกิจการเหมืองแร่ ซึ่งรวมถึงการผลิตหรือสำรวจ ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป

5. กิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานทางภาครัฐ

ออสเตรเลียมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) การส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก ในออสเตรเลียส่วนใหญ่ จะจัดทำเป็นโครงการทั้งในระดับสหพันธ์รัฐ และระดับมลรัฐ เน้นการให้คำปรึกษา การให้บริการสารสนเทศ และการให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือในการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาวางแผนธุรกิจ วิเคราะห์ การตลาด ช่องทางการส่งออก และการวิจัยพัฒนา ไม่ได้จัดทำในรูปแบบของกฎหมายส่งเสริมโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ได้มีการออกกฎหมาย Australian Small Business and Family Enterprise Ombudsman Act 2015 เพื่อจัดตั้ง Australian Small Business and Family Enterprise Ombudsman เพื่อเป็นช่องทางสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจครอบครัวในการเชื่อมโยงกับรัฐบาล และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยธุรกิจดังกล่าวต้องมีพนักงานน้อยกว่า 100 คน หรือมีรายได้น้อยกว่า 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี นอกจากนี้ ในปี 2559 ยังมีการออกกฎหมายเพื่อลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจขนาดย่อม

6. กลุ่มธุรกิจที่คนสัญชาติไทยที่มีศักยภาพเข้าไปจัดตั้งและประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย

  • ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าอาหารในออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้แก่ประเทศไทยอีกช่องทางหนึ่ง
  • ธุรกิจร้านอาหารไทยในออสเตรเลียธุรกิจร้านอาหารไทยเป็นที่นิยมในออสเตรเลีย และ ติดอันดับ 1 ใน 3 ของร้านอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2557  มีการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในออสเตรเลียกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งประมาณ 1 ใน 4 อยู่ในนครซิดนีย์ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen of the World)

การเปิดร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. Licensed Restaurant – ร้านอาหารที่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ โดยต้องยื่นขอใบอนุญาตตามกฎหมาย Liquor Licensing Act และผู้ยื่นขออนุญาตต้องผ่านการทดสอบความรู้ด้านนี้

2. Bring Your Own (B.Y.O.) ร้านอาหารประเภทนี้ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ให้แก่ลูกค้า แต่ลูกค้าสามารถนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในร้านได้