การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตรไทย)

การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตรไทย)
197 view

1. หลักเกณฑ์ เด็กที่จะขอสูติบัตรจะต้องมีบิดา และ/หรือ มารดาซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

2. ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิด บิดาหรือมารดา หรือผู้เกิด (หากอายุครบ 15 ปีแต่ไม่เคยแจ้งเกิด สามารถมาแจ้งเกิดด้วยตนเองได้)

3. ระยะเวลาที่ต้องแจ้งเกิด ควรแจ้งในโอกาสแรก เพื่อจะได้มีสูติบัตรเป็นเอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางต่อไป

4. ช่องทางการยื่นขอสูติบัตร

     4.1 ยื่นคำร้องด้วยตนเอง ท่านสามารถมายื่นคำร้องด้วยตนเองได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00-12.30 และ 13.30-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

     4.2 ยื่นคำร้องทางไปรษณีย์ กรุณาส่งซองไปรษณีย์ลงทะเบียนซองใหญ่ (A4-sized registered envelop) จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเองด้วย เพื่อที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้ออกสูติบัตรและจัดส่งให้ท่านต่อไป

5. ค่าธรรมเนียม ไม่มี

6. เอกสารประกอบที่ต้องใช้ในการยื่นขอสูติบัตร

     6.1 เอกสารคำร้อง

                   6.1.1 คำร้องขอนิติกรณ์ (<— กดเพื่อดาวน์โหลด) ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
                   6.1.2  แบบฟอร์มสูติบัตร (<— กดเพื่อดาวน์โหลด) ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน

     6.2 เอกสารของเด็ก

                   6.2.1 สูติบัตรออสเตรเลีย ฉบับจริง ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) ประจำรัฐที่ท่านพำนักอยู่ ในรูปแบบ Authentication (สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับเอกสารที่ผ่าน การรับรองในรูปแบบ Apostille) ทั้งนี้ หากยื่นทางไปรษณีย์ ท่านไม่ต้องส่งฉบับจริงมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยให้ท่านนำสำเนาสูติบัตรออสเตรเลียที่ผ่านการรับรองจาก DFAT แล้วไปผ่านการรับรองจาก Justice of Peace (JP) อีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงส่งมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ แทนฉบับจริง

                   6.2.2 รูปถ่าย ที่เป็นปัจจุบันของเด็ก โดยเป็นภาพสี ขนาด 2×2 นิ้ว จำนวน 1 รูป และเขียน ชื่อ-สกุล ของเด็กหลังรูปถ่าย

     6.3 เอกสารของบิดามารดา

                   6.3.1 บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดา และ/หรือ มารดาสัญชาติไทย พร้อมสำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด หากบิดาหรือมารดามิใช่บุคคลสัญชาติไทยให้ใช้หนังสือเดินทางที่ยังมีอายุ ทั้งนี้ หากยื่นทางไปรษณีย์ ท่านไม่ต้องส่งฉบับจริงมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยสำหรับบัตรประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดาคนไทย ให้ท่านส่งสำเนาที่รับรองด้วยตนเอง แต่สำหรับหนังสือเดินทางของบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างชาติ ให้ท่านส่งสำเนาที่รับรองโดย Justice of Peace (JP)

                   6.3.2 สำเนาทะเบียนบ้าน ของบิดา และ/หรือ มารดาสัญชาติไทย พร้อมสำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเอง 1 ชุด

                   6.3.3 ทะเบียนสมรส (หากบิดามารดาจดทะเบียนสมรส) ฉบับจริง

                              – หากเป็นทะเบียนสมรสออสเตรเลีย ต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) ประจำรัฐที่ท่านพำนักอยู่ในรูปแบบ Authentication (สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับเอกสารที่ผ่านการรับรองในรูปแบบ Apostille) พร้อมสำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเอง 1 ชุด ทั้งนี้ หากยื่นทางไปรษณีย์ ท่านไม่ต้องส่งฉบับจริงมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยให้ท่านนำทะเบียนสมรสออสเตรเลียที่ผ่านการรับรองจาก DFAT แล้วไปผ่านการรับรองจาก Justice of Peace (JP) อีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงส่งมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ แทนฉบับจริง

                              – หากเป็นทะเบียนสมรสไทย ไม่ต้องผ่านการรับรองจาก DFAT แต่ให้แนบสำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเอง 1 ชุด

                   6.3.4 บันทึกการสอบปากคำ (<— กดเพื่อดาวน์โหลด) กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยหรือออสเตรเลีย) โดยบิดาและมารดากรอก คนละ 1 ฉบับ เพื่อยืนยันสถานภาพการเป็นครอบครัวและอำนาจการปกครองบุตร ตามตัวอย่าง (<— กดเพื่อดาวน์โหลด) 

 

                   6.3.5 หนังสืออนุญาตให้ใช้ชื่อสกุล (<— กดเพื่อดาวน์โหลด) กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยหรือออสเตรเลียและต้องการให้เด็กใช้นามสกุลบิดา จะต้องกรอกแบบฟอร์มนี้ด้วย ตามตัวอย่าง (<— กดเพื่อดาวน์โหลด)

 

                   6.3.6 สำเนาหนังสือเดินทาง ของบิดามารดา ที่รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด

 

     6.4 เอกสารอื่น ๆ หากบิดามารดามีบุตรร่วมกันมาแล้ว ให้ยื่นสำเนาสูติบัตรของบุตรที่เกิดก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

 

7. ข้อแนะนำก่อนยื่นคำร้อง เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรุณาตรวจสอบเอกสารก่อนยื่นคำร้องอย่างถี่ถ้วน ดังนี้

 

     7.1 จำนวนเอกสารต้องครบถ้วน

     7.2 เอกสารที่ต้องผ่านการรับรองจาก DFAT ได้แก่ สูติบัตรออสเตรเลีย และทะเบียนสมรสออสเตรเลีย

     7.3 เอกสารที่ต้องผ่านการรับรองจาก JP ได้แก่ สำเนาสูติบัตรออสเตรเลียที่ผ่านการรับรองจาก DFAT แล้ว สำเนาทะเบียนสมรสออสเตรเลียที่ผ่านการรับรองจาก DFAT แล้ว และสำเนาหนังสือเดินทางของบิดาหรือมารดา ที่มิใช่บุคคลสัญชาติไทย

     7.4 สำเนาเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานไทย อาทิ บัตรประจำตัวประชาชนไทย ทะเบียนบ้านไทย ทะเบียนสมรสไทย ให้ท่านรับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเอง

 

8. ข้อควรดำเนินการหลังจากได้รับสูติบัตร การออกสูติบัตรจะทำให้เด็กมีเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก และได้สัญชาติไทย โดยชื่อเด็กจะอยู่ใน ทะเบียนบ้านกลางสำหรับคนเกิดและแจ้งเกิดในต่างประเทศ ซึ่งบิดาหรือมารดาสามารถเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบีบนบ้านที่ประเทศไทยได้ในภายหลัง โดยกรุณาสอบถามเขตหรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่อไป

 

9. กรณีบิดาสัญชาติไทย และมารดาชาวต่างชาติ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความเป็นบิดา โดยนำผลตรวจ DNA ไปผ่านการรับรอง (authentication)

 

หากมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอสูติบัตร โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ทาง +61 2 6206 0100 ต่อ 121 หรือ [email protected]