ความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

ความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 เม.ย. 2566

| 72 view

ความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement -TAFTA)

1. ความเป็นมา

ความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ Thailand-Australia Free Trade Agreement (TAFTA) มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมสินค้าทุกรายการที่ค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งการเปิดตลาดด้านบริการ การลงทุน และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการค้า มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 โดยกำหนดให้ไทยและออสเตรเลียเริ่มเปิดเสรีทางการค้าทั้งในด้านสินค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของออสเตรเลีย และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เป็นต้น ความตกลง TAFTA กำหนดว่า ภายใน 3 ปี หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม/ทบทวนในประเด็นดังต่อไปนี้ 1) การค้าบริการ 2) นโยบายการแข่งขัน และ 3) การทบทวนมาตรการป้องกันพิเศษ นอกจากนี้ ความตกลงฯ ยังกำหนดให้มีการเจรจาเพิ่มเติมด้านการจัดซื้อโดยภาครัฐ สรุปผลความตกลงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548

  • การเปิดเสรีการค้าสินค้า

ออสเตรเลียลดภาษีให้ไทยเหลือร้อยละ 0 จำนวนกว่า 5,000 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือทยอยลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี พ.ศ. 2553 และ 2558
สำหรับไทยลดภาษีประมาณร้อยละ 49 ของรายการสินค้าเหลือร้อยละ 0 ณ วันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนที่เหลือทยอยลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี พ.ศ. 2553 และ 2558
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางรายการที่มีความอ่อนไหว เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า (ออสเตรเลีย) และเนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย ชา และกาแฟ (ไทย) ภาษีจะเหลือร้อยละ 0 ภายใน พ.ศ. 2558 2563 และ 2568 โดยมีมาตรการปกป้องพิเศษ (special safeguards) สำหรับสินค้าบางรายการ

  • การค้าบริการและการลงทุน

ออสเตรเลียให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ร้อยละ 100 ยกเว้น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ และท่าอากาศยาน แต่หากเป็นการลงทุนเกิน 10 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต้องขออนุญาตก่อน และได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการให้บุคลากรไทยเข้าไปให้บริการได้ ส่วนไทยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากได้ถึงร้อยละ 60 สำหรับกิจกรรมย่อยบางประเภท เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หอประชุม มารีน่า และเหมืองแร่ เป็นต้น

  • กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

สินค้าต้องมีคุณสมบัติของกฎถิ่นกำเนิดที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนในแต่ละรายการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (wholly obtained) เช่น สินแร่ สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าที่ได้จากสิ่งมีชีวิตในประเทศ และ 2) การแปรสภาพอย่างเพียงพอ (substantial transformation) โดยการเปลี่ยนพิกัด (Change of Tariff Classification) เพราะการแปรรูป และใช้วัตถุดิบภายในไทย/ออสเตรเลียเป็นสัดส่วนสำคัญในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 40 หรือร้อยละ 45 ของราคาสินค้า

  • ความร่วมมือด้านต่าง ๆ

ความตกลงที่จะร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันมีความโปร่งใส และคล่องตัวมากขึ้น เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยเพื่อแก้ไขปัญหาของสินค้าที่ติดมาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ ความร่วมมือในด้านพิธีการด้านศุลกากร มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการจัดฝึกอบรม การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของทั้งสองประเทศ

2. โอกาสของไทยภายใต้ TAFTA

  • TAFTA มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ที่สำคัญคือช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งในตลาดออสเตรเลียได้ดีขึ้น สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียอยู่แล้ว ผู้ส่งออกควรใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ พร้อมทั้งเร่งเจาะตลาดและขยายฐานการค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ขณะที่สินค้าที่ยังไม่เคยส่งออกมาก่อนผู้ส่งออก จำเป็นต้องเริ่มต้นบุกเบิกตลาดด้วยการแนะนำให้ผู้นำเข้าหรือผู้บริโภคในออสเตรเลียรู้จัก เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสินค้าไทย ซึ่งน่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดออสเตรเลียได้ในที่สุด
  • ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและนวดสปาไทยมีโอกาสทำธุรกิจในออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีรายได้ดี และเป็นที่นิยมของชาวออสเตรเลีย

3. โอกาสการส่งออกของไทย

การลดภาษีของประเทศออสเตรเลีย
ลดเหลือร้อยละ 0 ทันที

สินค้าเกษตร

สินค้าอุตสาหกรรม

ผักสด
ผักแห้ง
ผักกระป๋อง และแปรรูป
ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป
น้ำผลไม้กระป๋อง
พาสต้า
อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ
ผลไม้สด/แห้ง
กุ้ง อาหารทะเลสด
ชา กาแฟ
เครื่องเทศ ธัญพืช
น้ำตาลและขนมจากน้ำตาล
โกโก้ และของปรุงแต่งจากโกโก้
ของปรุงแต่งจากธัญพืชและนม
ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้แทนยาสูบ

สินแร่
รถยนต์ขนาดเล็ก รถปิคอัพ
แชมพู เครื่องสำอางและบำรุงผิว
ตู้เย็น
โทรทัศน์สี
เครื่องซักผ้า
ผลิตภัณฑ์เซรามิค
เครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม
เกลือ
หิน และของทำด้วยหิน
ปูนขาว
ซีเมนต์
เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่
น้ำมัน
ไม้และของทำด้วยเยื้อไม้
กระดาษ และเยื่อกระดาษ
หนังสือ และสิ่งพิมพ์
อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม
นาฬิกา และส่วนประกอบของเล่น

 

การลดภาษีของประเทศออสเตรเลีย
ลดเหลือร้อยละ 0 ภายใน 5 ปี (ปี 2553)

สินค้าเกษตร

สินค้าอุตสาหกรรม

  – เคมีภัณฑ์ (คงไว้ที่ร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เม็ดพลาสติก (คงไว้ที่ร้อยละ 5 ในปี 2548)
– สบู่สิ่งปรุงแต่งที่ใช้ซักล้าง เทียน (คงไว้ที่ร้อยละ 4 ในปี2548)
– กระสอบและถุงใช้บรรจุ (ลดเหลือร้อยละ 12.5 ในปี 2548)
– รองเท้าและชิ้นส่วน (ลดเหลือร้อยละ 9 ในปี 2548)
– ชิ้นส่วนยานยนต์ (ลดเหลือร้อยละ5 ในปี 2548)
– เหล็กขึ้นรูปต่าง ๆ (คงไว้ที่ร้อยละ 4 ในปี 2548)
– ผลิตภัณฑ์เหล็ก (คงไว้ที่ร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เครื่องปรับอากาศ (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เครื่องรับวิทยุ (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– ยางรถยนต์ (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– ถุงมือยาง (ลดร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– ฝ้าย เส้นใยยาวและใยสั้นประดิษฐ์ (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– สักหลาดและผ้าไม่ทอ (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– แก้วและเครื่องแก้ว (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– เครื่องจักร (ลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2548)
– อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทัศนศาสตร์ (ลดเหลือร้อยละ 9 ในปี 2548 ลดเหลือร้อยละ 8 ในปี 2551 และเหลือร้อยละ 5 ในปี 2552)
– เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ (ลดเหลือร้อยละ 12.5 ในปี 2548 และลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2553)
– ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก (ลดเหลือร้อยละ 12.5 ในปี 2548 และลดเหลือร้อยละ 5 ในปี 2553)

 4. โอกาสทางการค้าของไทย

 

จุดเด่นของออสเตรเลีย

โอกาสทางการค้า/ผลประโยชน์

1.

เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแร่ธาตุที่สำคัญ และอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก เช่น ทองคำ พลอย และเหล็ก เป็นต้น อาจใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิต เช่น ทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับ และเหล็กเหล็กขึ้นรูปต่าง ๆ เป็นต้น

2.

มีความเจริญก้าวหน้าด้านวิชาการในแขนงต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นต้น ความร่วมมือด้านวิชาการกับออสเตรเลียจะช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันให้กับประเทศไทย เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ และโคนม เป็นต้น

3.

ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตในประเทศจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อทดแทนจุดอ่อนในด้านค่าจ้างแรงงานที่สูง นอกจากนั้น มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่เดิมส่งออกในลักษณะวัตถุดิบ เป็นการเปิดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดสำหรับสินค้าที่ยังต้องการแรงงาน รวมทั้งอาจเป็นโอกาสสำหรับสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีต่าง ๆ

4.

มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการค้ากับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ อาจใช้ออสเตรเลียเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้

5.

มีฤดูกาลที่ตรงข้ามกับไทย ผักผลไม้เขตร้อนแม้ว่าจะปลูกได้ในออสเตรเลีย แต่สินค้าจากไทยสามารถเข้าไปเสริมในช่วงนอกฤดูกาลของออสเตรเลียได้ เสื้อผ้าตามฤดูกาลจะมีช่วงส่งมอบที่ตรงข้ามกับยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น จึงอาจช่วยให้ผู้ผลิตไทยสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ตลอดทั้งปี

6.

มีประชากรจากประเทศในแถบเอเชียซึ่งย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลียจำนวนมาก กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าไทยที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าประเภทอาหารและผักผลไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

 5. สถานะล่าสุด

สรุปความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีของไทย

พันธกรณี/สถานะ

ความคืบหน้าการเจรจา

ไทย

 

– สินค้าร้อยละ 99.09 ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว (สินค้าทุกรายการจะลดภาษีเป็นศูนย์ภายในปี 2568)

– สินค้าบางรายการมีมาตรการปกป้องพิเศษจนถึงปี 2563 (เช่น เนื้อวัว เครื่องในวัว/หมู นมและครีมแบบผง เป็นต้น) และในรูปโควตาภาษีจนถึงปี 2568 (เช่น นมผง กาแฟ มันฝรั่ง น้ำตาล เป็นต้น)

– เปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 60 ในบริการบางประเภท เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หอประชุม และเหมืองแร่

ออสเตรเลีย

– สินค้าทุกรายการลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว

– เปิดให้ลงทุนทุกประเภท ยกเว้น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ และท่าอากาศยาน

 

– ไทยและออสเตรเลีย มีแผนที่จะประชุมคณะกรรมการดำเนินงานด้านการเข้าสู่ตลาด (MAIC) ครั้งที่ 4 ในปี 2562

 

– ไทยได้ปรับเพิ่มปริมาณโควตาเฉพาะและเพดานการนำเข้าสินค้านมบางรายการ ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ได้แก่ นมผงขาดมันเนย หางนม (เวย์) ไขมันเนย และเนยแข็ง ซึ่งไทยมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมและสำหรับบริโภคภายในประเทศ โดยเป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงฯ นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังสนับสนุนการปรับตัวรองรับการเปิดตลาดนมและผลิตภัณฑ์แก่ไทย โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาฝึกอบรมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และเกษตรกร เมื่อเดือนเมษายน 2561 และเดือนมีนาคม 2562

– การค้าและบริการ: ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างหารือเรื่องรูปแบบ/แนวทางการเจรจา เพื่อเปิดตลาดสาขาบริการเพิ่มเติม

ข้อมูล กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มิถุนายน 2562

http://www.dtn.go.th/images/86/FTA/AllFTA_stat0619.pdf