วันที่นำเข้าข้อมูล 25 เม.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 เม.ย. 2566
ประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ
จากการสอบถามบริษัทไทยที่ดำเนินการในออสเตรเลียในปัจจุบัน สามารถสรุปประสบการณ์การดำเนินธุรกิจได้ ดังนี้
(1) การสนับสนุนจากภาครัฐ
ออสเตรเลียมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และยังเปิดให้คนไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ร้อยละ 100 ยกเว้นธุรกิจบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขพิเศษและต้องยื่นเสนอขออนุญาตรัฐบาลออสเตรเลียก่อน
(2) กฎระเบียบทางการค้า
ไทยและออสเตรเลียมีความตกลงการค้าเสรี (TAFTA) โดยออสเตรเลียอนุญาตให้ไทยลงทุนในบางอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายปัจจุบันของออสเตรเลียอย่างเสรี ยกเว้นอุตสาหกรรมบางรายการตามข้อตกลง นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงดังกล่าว ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในออสเตรเลียจะได้รับความคุ้มครองการลงทุนด้วย
(3) การเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต บริษัทไทยส่วนใหญ่จึงเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงาน อาทิ น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า
(4) การลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างความมั่นคง
การลงทุนในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ และผลตอบแทนที่ได้แต่เพียงในประเทศเท่านั้น การลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศจะช่วยลดความเสี่ยง และมีการกระจายรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีศักยภาพเหมาะสมทั้งในเรื่องของพื้นที่ ทรัพยากร และเทคโนโลยี รวมถึงรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่ด้วย
(5) การบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
ออสเตรเลียมีศักยภาพในเรื่องการติดต่อสื่อสาร ความเสถียรของสัญญาณ ตลอดจน การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลให้ง่ายต่อการนำไปใช้ได้
(6) การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
ออสเตรเลียจัดเป็นประเทศที่บริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ตัวอย่างเช่น บริษัทไทยบางบริษัทจึงเข้าไปลงทุนโดยซื้อกิจการของออสเตรเลีย เพื่อนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาไปพัฒนาต่อในประเทศไทย
(1) กฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายภาษีที่เข้มงวดของออสเตรเลีย
ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลียเปิดโอกาสให้คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ แต่การลงทุนในประเทศออสเตรเลียก็ยังคงมีกฎระเบียบที่รัดกุมอยู่ เพื่อสร้างมาตรฐานและเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในประเทศ อาทิ กฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องค่าแรงงานและสวัสดิการที่มีความเข้มงวดและมีขั้นตอนมาก และระเบียบมาตรฐาน Stock Keeping Unit (SKU) ซึ่งเป็นการขออนุญาตการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่วางขายอยู่ในตลาด หากมีการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ ก็ต้องขอการรับรองมาตรฐานใหม่และเสียค่ารับรองมาตรฐานซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
อุปสรรคจากนโยบายภาษี อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองถ่านหิน ได้แก่ ภาษี Mineral Resources Rent Tax (MRRT) ซึ่งเป็นนโยบายการเก็บภาษีจากธุรกิจเหมืองถ่านหินที่มีกำไรจากการดำเนินการสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น นอกจากนี้ ออสเตรเลียไม่มีนโยบายดูแล นักลงทุนและไม่มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเหมือนกับ BOI ในประเทศไทย ทำให้ต้องเสียภาษีค่อนข้างสูง
(2) ค่าแรงงาน
ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลียในปี 2562 อยู่ที่ 19.49-24.36 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อ ชม. (ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 37.87-41.25 บาทต่อ ชม.) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในออสเตรเลียสูงตามไปด้วย
(3) ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียมีความผันผวนไปตามกลไกตลาด โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้บริษัทที่จะเข้าไปลงทุนในออสเตรเลีย จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
จันทร์-ศุกร์ 8:30 - 16:30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)