รู้ไหมว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทย
ถาม – ทราบหรือไม่ว่า การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” ของคนไทย
ตอบ – ใช่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
ถาม – ใครบ้างที่สามารถใช้สิธิเลือกตั้งได้
ตอบ – ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566) และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566)
ถาม – แล้วใครบ้างที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
ตอบ – บุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่
– ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
– ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
– ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
– บุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ถาม – ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้าง
ตอบ – ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใชสิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร) จะถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
- ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
การจำกัดสิทธิดังกล่าวมีกำหนดเวลาครั้งละสองปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง